เส้นทางรถไฟจากเฉิงตูสู่ยุโรป กับบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ BRI ของจีน

รถไฟขนส่งสินค้าที่บรรทุกสินค้ามาเต็มขบวน อาทิ ผลิตภัณฑ์จอแอลซีดี อุปกรณ์เชื่อมต่อ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย ออกเดินทางจากนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปยังท่าเรือดูสบวร์ก (Duisburg Port) ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 31 ได้ปิดฉากลงที่นครเฉิงตู

การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนครเฉิงตูกับเขตมหานครไรน์-รูห์ร (Rhine-Ruhr) ของเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งต่อไปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับที่รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ได้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการเปิดให้บริการรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปขบวนแรกจากท่ารถไฟระหว่างประเทศเฉิงตู (Chengdu International Railway Port) ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนา BRI ที่ดำเนินมาครบหนึ่งทศวรรษในปีนี้

รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปขบวนแรกจากนครเฉิงตูไปยังเมืองวูช (Lodz) ประเทศโปแลนด์ เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2556 และนับตั้งแต่นั้นมา รถไฟจากเฉิงตูได้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญระหว่างเอเชียกับยุโรป ทำให้ระยะเวลาการเดินทางลดลงจาก 22 วัน เหลือเพียง 10 วัน ในขณะที่มูลค่าและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ขนส่งผลิตภัณฑ์ของจีน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรไปยังยุโรป ขณะเดียวกันได้นำเข้าไวน์ฝรั่งเศส ไม้รัสเซีย เนื้อวัวโปแลนด์ และเฟอร์นิเจอร์อิตาลี ซึ่งเป็นการพลิกโฉมหน้าการค้าต่างประเทศของนครเฉิงตูและจีนตะวันตก

นอกจากนี้ ท่ารถไฟระหว่างประเทศเฉิงตูยังได้เปิดเส้นทางรถไฟที่มุ่งสู่ตอนใต้ของจีนมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการขนส่งข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการขนส่งระหว่างมณฑลเสฉวนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในปี 2565 นครเฉิงตูได้เปิดให้บริการรถไฟจีน-เวียดนาม และบริการรถไฟจีน-ลาว และในเดือนมิถุนายน บริการรถไฟจีน-เมียนมาสายใหม่ (มัณฑะเลย์-เฉิงตู) ได้เริ่มเปิดเดินรถ ซึ่งเชื่อมโยงนครเฉิงตูกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จนถึงปัจจุบัน บริการรถไฟระหว่างประเทศของเฉิงตูเข้าถึงเมืองต่าง ๆ นับ 100 แห่งในต่างประเทศ และจุดหมายปลายทาง 30 แห่งภายในประเทศ ก่อให้เกิดเครือข่ายระหว่างประเทศและระบบกระจายสินค้าทางบก-ทางทะเลที่มีเฉิงตูเป็นศูนย์กลาง

สินค้าคุณภาพสูงจากต่างประเทศที่นำเข้าผ่านรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้รับความนิยมเป็นพิเศษจากชาวเมืองเฉิงตู

อาคารแสดงสินค้า (โภคภัณฑ์) แห่งชาติเฉิงตู-ยูเรเชีย (Chengdu-Eurasia National (Commodity) Pavilion) ภายในท่ารถไฟนานาชาติเฉิงตู ประกอบด้วยสถานที่จัดแสดงสินค้า 34 จุด พร้อมด้วยสินค้าโภคภัณฑ์จากภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ยุโรป เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดเผยว่า อาคารแสดงสินค้าแห่งนี้ช่วยขับเคลื่อนมูลค่าการค้านำเข้ามากกว่า 1 พันล้านหยวน (137.18 ล้านดอลลาร์) ต่อปี

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์นครเฉิงตูกล่าวว่า นครเฉิงตูจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคกับการค้าให้มากขึ้นผ่านการสื่อสารและความร่วมมือ

แชร์