สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสถาบันการบินพลเรือน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ

นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) โดยมี นายสิทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมนานาชาติ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สบพ. กรุงเทพฯ โดยผู้ลงนามบันทึกข้อตกลง ได้แก่ นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวภัคณัฏฐ์ มาช่วย ผู้ว่าการ สบพ. นายพัลลภ สังข์ศิลป์เลิศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) นายปริยะ เวสสบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน (สสอ.)

ด้วยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการฯ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขข้อบกพร่องของประเทศไทยที่ได้รับการตรวจสอบจาก ICAO ในด้านมาตรฐานการฝึกอบรมและฝึกซ้อม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการพัฒนาแผนการฝึกอบรมและฝึกซ้อม ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย (Rescue Coordination Centre : RCC) ของ สกชย. และด้านการจัดการความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบินของ สสอ. ให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ ICAO และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด รวมถึงในอนาคตสามารถนำแผนการฝึกอบรมและฝึกซ้อมดังกล่าว มาขยายผลเป็นแผนฝึกอบรมและฝึกซ้อมสำหรับหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศไทย และเสริมสร้างการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบินทั้งระบบการบินของประเทศไทยได้ ตลอดจนเป็นการบูรณาการ สนับสนุน และยกระดับงานวิชาการด้านการบินระหว่างหน่วยงานภายใต้ สังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 สกชย. สสอ. และ สบพ. จึงพิจารณาร่วมกันที่จะจัดทําบันทึกข้อตกลงว่าด้วย ความร่วมมือทางวิชาการ ฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาสอดคล้องกับขอบเขตอํานาจหน้าที่ของ 3 หน่วยงานตามที่กําหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรทางวิชาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และผู้ฝึกอบรมเกิดผลลัพธ์จากการเรียนรู้ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ (Skill) และ ด้านทัศนคติ (Attitude) ซึ่งต้องสอดคล้องกับสมรรถนะหลักขององค์กรและสมรรถนะอาชีพในตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ

สบพ. มีภารกิจสนับสนุนการฝึกอบรมด้านกิจการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานหน่วยงานกำกับดูแลระดับสากลและระดับประเทศที่กำหนดนั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 สบพ. ได้รับการรับรองจาก ICAO) ในฐานะสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของโครงการเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย เป็น 1 ใน 9 ประเทศ จากสมาชิกภาพทั่วโลก 77 ประเทศ 128 สมาชิก สำหรับการพัฒนาด้านความปลอดภัยทางการบินระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจำเป็นต้องร่วมมือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งการส่งเสริมกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติตามภาคผนวกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไป และการพัฒนาศักยภาพของรัฐที่ทำการบินให้อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานด้วยแนวทางต่าง ๆ ทั้งนี้ หนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม คือ การดำเนินการเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย และการสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ของอากาศยาน ที่ผ่านมา สบพ. ได้ร่วมสนับสนุนภารกิจดังกล่าว ให้เป็นตามไปทิศทางการดำเนินงาน โดยสนับสนุนวิทยากรบรรยายและเข้าร่วมประเมินผลการฝึกซ้อม Search and Rescue Exercise : SAREX) ของทุกปี รวมทั้งดำเนินการออกแบบหลักสูตร และฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเสริมสมรรถนะให้แก่บุคลากรของ สกชย. และ สสอ. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนงานวิชาการอื่นๆ

การทำความร่วมมือด้านวิชาการกับสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม โดย สกชย. และ สสอ. เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมของ สบพ. และสนับสนุนภารกิจการบูรณการการใช้ทรัพยากร ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ สำหรับขอบเขตการดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการส่งเสริมงานด้านวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากร การบูรณาการการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่เกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน และเรือที่ประสบภัยของประเทศไทย และการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องต่อไป

แชร์