การค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ ไทย-เมียนมา-อินเดีย

บทความโดย คุณ สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) 

Website ของ Myanmaritv รายงานว่าคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะได้เข้าพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาและประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) พร้อมกับหารือถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ แต่ไม่ได้มีข้อมูลว่ามีการหารือด้านการค้าแต่อย่างไร ซึ่งน่าเสียดายเพราะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ในปี 2565 มีมูลค่ามากถึง 263,638 ล้านบาท เป็นการส่งออก 143,582 ล้านบาท นำเข้า 120,056 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มูลค่าการค้ารวมของไทยกับเมียนมาในปี 2565 ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมากถึง 314,755 ล้านบาท

นอกจากนี้ การค้ากับเมียนมาโดยตรงทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนแล้ว ไทยยังได้ค้าขายกับประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ กลุ่ม BIMSTEC ซึ่งมี 7 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล ตัวเลขการค้าไทยกับกลุ่ม BIMSTEC ในปี 2565 มากถึง 959,346 ล้านบาท นำเข้า 381,356 ล้านบาท ส่งออก 577,990 ล้านบาท

มีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบ นั่นก็คือการค้าข้ามแดนระหว่างไทย เมียนมา และอินเดีย ซึ่งเชื่อมด้วยทางหลวงไตรภาคีเส้นทางใหม่เชื่อมอินเดียกับอาเซียน

อินเดียมีนโยบาย Look East มาแล้วหลายปี  (อย่างน้อยก็ 10 ปี) เพราะอินเดียสามารถทะลุเมียนมาผ่านไทยไป ASEAN ได้ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม GMS (Greater-Maekong Subregion) ซึ่งมี 6 ประเทศ คือไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน

ผมเคยแจ้งผู้ประกอบการในแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วว่าแม่สอดจะเป็นทางออกของอินเดียเพื่อไปอาเซียน ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีใครเห็นภาพว่าอินเดียจะทำได้อย่างไร

แนวคิดและนโยบายของอินเดียที่จะใช้เส้นทางไตรภาคีเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การค้านั้นมีมานาน นั่นคือเหตุผลที่อินเดียกำหนดนโยบาย Look East เพราะอินเดียจะใช้เส้นทางหลวงไตรภาคีหรือคือถนนเส้นทางมิตรภาพอินเดีย-ไทย-เมียนมา ความยาว 3,200 กิโลเมตร เป็นเส้นทางออกจากเมืองมอเร่ห์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ในแคว้นมณีปุระของรัฐ 7 สาวน้อย

เมืองมอเร่ห์ติดกับเมืองตามูซึ่งเป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ของเมียนมา ประชาชนทั้งสองเมืองจะเดินทางข้ามไปมาด้วยสะพานโครงเหล็กข้ามแม่น้ำเล็กๆ ความยาวสะพานประมาณ 30-40 เมตร และด่านข้ามแดนทางบกที่แค่ก้าวข้ามรั้วก็เป็นเขตแดนของอีกประเทศหนึ่ง

สินค้าไทยจำนวนมาก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื่อน้ำมัน แบตเตอรี่รถยนต์ รองเท้าฟองน้ำ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสตรีจากไทย ฯลฯ จะขนส่งจากแม่สอดไปยังฝั่งเมียวดี (ตรงข้ามแม่สอด) แล้วขนส่งไปยังเมืองย่างกุ้งและต่อไปที่เมืองมัณฑเลย์ (เมืองทางเหนือของเมียนมา) จากนั้นพ่อค้าอินเดียจะไปซื้อสินค้าที่ตลาดนัมพาลองในตามูแล้วขนไปขายต่อที่มอเร่ห์ แล้วจากนั้นขนต่อไปยังเมืองอิมฟาล (Imphal) ในรัฐมณีปุระเพื่อต่อไปรัฐอัสสัมและรัฐอื่นๆ ในรัฐ 7 สาวน้อย

ประชาชนอินเดียในรัฐ 7 สาวน้อย จะชอบสินค้าไทยมาก ขนาดผู้ผลิตสินค้าจีนปลอมสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วแปะชื่อสินค้าเป็นชื่อไทย เช่น รองเท้าฟองน้ำ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทหมากแห้งส่งออกจากไทยไปขายในรัฐ 7 สาวน้อย ด้วย เพราะคนเมียนมาและคนอินเดียบางส่วนยังนิยมการกินหมาก

อินเดียเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย มีกรอบ FTA ในการค้าขายกัน 2 กรอบ คือ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA ASEAN-India (FTA-AI)

ขณะเดียวกันอินเดียมีเขตแดนติดกับเมียนมา มีเส้นทางไตรภาคีที่ทั้ง 3 ประเทศร่วมกันสร้าง ซึ่งอินเดียใช้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า การค้าบริการ การท่องเที่ยว และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าเพื่อเชื่อมอาเซียน

ดังนั้น หากไทยขอความร่วมมือกับเมียนมาในเรื่องการเชื่อมต่อถนนบางตอนบนถนนสายมิตรภาพไตรภาคีให้ใช้ขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวได้ ไม่เพียงแต่จะมีสินค้าไทยที่ผ่านเมียนมาไปทะลุถึงรัฐ 7 สาวน้อยถึงอินเดียได้แล้ว สินค้าของเมียนมาก็ยังออกไปสู่อินเดีย ในขณะเดียวกัน สินค้าด้านการเกษตรของรัฐ 7 สาวน้อย ก็จะกระจายจากอินเดียเข้าเมียนมา ไทย และอาเซียนได้ด้วย

หากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ นั่งจับเข่าคุยกันในการเพิ่มและขยายความร่วมมือกันกับหน่วยงานในภาครัฐของอีกสองประเทศ โดยเชิญหน่วยงานภาคเอกชนร่วมด้วย เช่น หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดตาก ก็น่าเชื่อว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะขยายตัวสู่เมียนมาและอินเดียได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ไทยยังเจาะประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ได้ด้วยผ่าน BIMSTEC โดยปัจจุบันได้ปรับเป็น BIMSTEC Charter ซึ่งจะมีรูปแบบของการเจรจาที่มีหลักการและเป็นทางการมากขึ้น

ผมชักเกรงว่า ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ จะกล้าเสนอความคิดเห็นนี้ต่อเจ้ากระทรวงพาณิชย์คนใหม่หรือไม่ (หลังได้รัฐบาลใหม่)!

แชร์