"ธุรกิจขนส่งพัสดุปี 2020" ระเบิดศึกสงครามราคา
“EIC ธนาคารไทยพาณิชย์”
เปิดบทวิเคราะห์ “ธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2020มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันจากแรงกดดันด้านราคา”
โดยประเมินว่า ในปี
2020 มูลค่าตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยมีแนวโน้มเติบโตราว
35%YOY มาอยู่ที่ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท
โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการซื้อขายสินค้าผ่าน e-commerce ที่มูลค่าตลาดยังเติบโตต่อเนื่องราว
17%YOY เป็น 1 แสนล้านบาท
โดยตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ (Parcel delivery) มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง
3 ปีที่ผ่านมา (2017-2019) ที่ขยายตัวได้เฉลี่ย
40% ต่อปี (40%CAGR) สอดคล้องกับตลาด
e-commerce ของไทยที่เติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี
(18%CAGR) จากการประเมินของ Euromonitor
การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
(online platform) มากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ e-commerce รายใหญ่
เช่น Lazada, Shopee, JD Central, Priceza และการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย (social
commerce) อย่าง Facebook, Line, Instagram รวมถึงในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง
และทำให้คาดว่าการขนส่งพัสดุในปี 2020 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน
ยิ่งไปกว่านั้น การจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ เช่น เทศกาลชอปปิงเอาใจคนโสด 11.11
ของ Lazada, 12.12 Birthday Sale ของ
Shopee, และ Black Friday จะส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า
1 ล้านชิ้นต่อวัน
รูปที่ 1 : มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุของไทย
หน่วย : หมื่นล้านบาท
หมายเหตุ :
คำนวณจากบริษัทที่ขนส่งพัสดุในไทยรายใหญ่ประมาณ 22 ราย
ในด้านการแข่งขัน
ธุรกิจขนส่งพัสดุมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น
จากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ในปี 2018 ตลาดขนส่งพัสดุประกอบด้วยผู้เล่นในรายใหญ่
3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่
บ.ไปรษณีย์ไทย จำกัด, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) และลาซาด้า
เอ็กซ์เพรส (Lazada Express) และผู้เล่นรายกลางอื่น ๆ อีกหลายราย
เช่น เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express), ดีเอสแอล อีคอมเมิรซ์ (DHL
e-commerce), นิ่มเอ็กซ์เพรส (Nim Express), และนินจาแวน
(Ninja van) นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายจากต่างประเทศได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย
เช่น เบสท์ โลจิสติกส์ (Best logistics) และแฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash
Express) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba)
จากจีนเป็นหุ้นส่วน, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T
Express) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย,
และซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ที่ได้ร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี
อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น
ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายเดิมยังมีโอกาสเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้าตามความต้องการ
(on-demand delivery) ซึ่งให้บริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง
ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ลาลามูฟ (Lalamove), ไลน์แมน
(Lineman), แกร็บเอ็กซ์เพรส (Grab Express) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การขนส่งแบบ On-demand delivery เน้นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการขนส่งสินค้าทันทีซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับการขนส่งพัสดุแบบเดิม
อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในด้านขอบเขตการให้บริการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
และอัตราค่าบริการที่สูงกว่าการขนส่งพัสดุแบบเดิมราว 2 เท่า
รูปที่ 2 : ส่วนแบ่งตลาดขนส่งพัสดุในปี
2018
หน่วย : %
หมายเหตุ :
คำนวณจากบริษัทที่ขนส่งพัสดุในไทยรายใหญ่ประมาณ 22 ราย
ด้วยเหตุนี้
การลดราคาจึงเป็นวิธีหลักในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่สะท้อนได้จากอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุเริ่มต้นที่ปรับลดลงจากราว
35 บาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็น
19 บาทในปัจจุบัน
อีกทั้งในอนาคตอัตราค่าบริการมีโอกาสปรับลดลงอีก เนื่องจากวิธีการลดราคาค่าขนส่งนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการดึงดูดปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นและทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแล้ว
ปริมาณการขนส่งที่มากขึ้นยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งเฉลี่ยของผู้ประกอบการ
หรือการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) อย่างไรก็ดี
การแข่งขันที่รุนแรงนี้จะส่งผลบวกต่อผู้ใช้บริการขนส่งพัสดุเนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการขนส่งที่ถูกลง
การบริการขนส่งที่ปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น และมีผู้ประกอบการให้เลือกใช้หลายราย
รูปที่ 3 : อัตราค่าบริการขนส่งเริ่มต้นของผู้ประกอบการแต่ละราย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, Flash Express,
J&T Express, SCG Express, Ninja Van
นอกจากการแข่งขันด้านราคาแล้ว
ธุรกิจขนส่งพัสดุยังต้องแข่งขันในด้านบริการทั้งในแง่คุณภาพการบริการและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า
โดยในด้านคุณภาพการบริการผู้ประกอบการควรต้องยกระดับความปลอดภัยในการจัดส่งสินค้าเนื่องจากมูลค่าสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic
Transactions Development Agency: ETDA) พบว่า มูลค่าเฉลี่ยของสินค้าต่อการสั่งซื้อผ่านช่องทาง
e-commerce สูงขึ้นจาก 1,300
บาทในปี 2017 มาอยู่ที่ 1,700
บาทในปี 2018
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน
และเครื่องสำอาง
อีกทั้งมูลค่ามีโอกาสสูงขึ้นอีกจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงยุคใหม่ (new
wealth) ที่หันมาสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมระดับ Hi-End
ผ่านทาง online platform เพิ่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการยังต้องเน้นการให้บริการลูกค้า (customer
service) เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ผู้ใช้บริการสามารถสื่อสารกับผู้ประกอบการได้โดยตรงผ่านหลายช่องทางทั้งข้อความส่วนตัวหรือบนพื้นที่สาธารณะอย่างเพจเฟซบุ๊ก
อีกทั้งผู้ใช้บริการยังสามารถตรวจสอบสถานะพัสดุได้ตลอดเวลา
จึงส่งผลให้การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การขนส่งที่ล่าช้า
และการละเลยการติดตามปัญหาของผู้ใช้บริการจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการ
ส่วนในด้านความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า
ซึ่งในปัจจุบันแม้จะพัฒนาไปมากแล้วจากในอดีตที่ใช้เวลาขนส่ง 5-7 วันเป็นการขนส่งภายในวันเดียวสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหรือวันรุ่งขึ้นสำหรับการขนส่งทั่วประเทศ
รวมถึงการขยายเวลาในการให้บริการเป็นตลอด 365 วัน
อย่างไรก็ดี
ผู้ประกอบการควรต้องรักษาความรวดเร็วในการขนส่งและหาโอกาสในการลดระยะเวลาในการจัดส่งเนื่องจากความล่าช้าในการจัดส่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสปรับเปลี่ยนไปใช้บริการจากคู่แข่งในการขนส่งครั้งถัดไป
ยิ่งไปกว่านั้น
ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในด้านเครือข่ายเพื่อให้อัตราส่วนของพื้นที่รับผิดชอบต่อพนักงาน
ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ซึ่งทำให้การจัดส่งสินค้ารวดเร็วขึ้น
โดย Kerry Express ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มีศูนย์คัดแยกสินค้าราว
10 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุมากกว่า 1,300 แห่ง
จุดให้บริการมากกว่า 10,000 จุด ยานพาหนะราว 20,000 คัน
พร้อมทั้งพนักงานรวมกว่า 22,000 คน ขณะที่ J&T Express ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้ามาให้บริการทำให้ยังมีเครือข่ายที่เล็กกว่า
โดยมีศูนย์คัดแยกและศูนย์กระจายสินค้า 15 แห่ง จุดให้บริการรวม 1,000 จุด
ยานพาหนะ 1,000 คัน และพนักงานราว 10,000 คน
รูปที่ 4 : เปรียบเทียบจุดให้บริการของผู้ให้บริการแต่ละราย
หมายเหตุ : ข้อมูลเท่าที่เผยแพร่ ณ 8
ม.ค. 2020
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของไปรษณีย์ไทย,
Kerry Express, Flash Express, J&T Express, SCG Express, Best Express, CJ
logistics, Lazada Express
ในอนาคต การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี
ความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และกฎระเบียบข้อบังคับ เป็น 3
ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าควรจับตามองเพื่อวางแผนธุรกิจในอนาคต
ในด้านการลงทุนเทคโนโลยี
ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายต่างเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
เช่น การสร้างศูนย์คัดแยกพัสดุขนาดใหญ่ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีคัดแยกพัสดุอัตโนมัติแบบสายพานล้อเลื่อนและแบบถาดยกเท
และเครื่องแสกนพัสดุอัจฉริยะ
ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังในการคัดแยกสินค้าและทำให้การจัดส่งสินค้ารวดเร็วขึ้น
และการนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการขนส่งของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน
นอกจากนี้
ผู้ประกอบการยังเน้นลงทุนเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้ใช้บริการ เช่น
การเริ่มติดตั้งระบบ GPS ในรถขนส่งทุกคันเพื่อให้ตรวจสอบสถานะพัสดุแบบ
real-time, การสร้างระบบจองรับ-ส่งพัสดุล่วงหน้า, และการใช้ระบบเก็บเงินปลายทาง
(cash on delivery) ส่วนในอนาคต
จำนวนพัสดุและต้นทุนดำเนินการที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ประกอบกับความต้องการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วขึ้น
จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวโดยการลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น
การสร้างคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) ภายใต้การทำงานของหุ่นยนต์อย่าง
Kiva ของ Amazon และ
Quicktron ของ Alibaba ที่จะทำให้การแพ็กสินค้าและจัดส่งรวดเร็วขึ้น
หรือการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) ในการขนส่งสินค้าระหว่างศูนย์กระจายสินค้า
และโดรน (drone) ในการจัดส่ง last-mile โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลดังเช่นการให้บริการของ
JD ในอินโดนีเซีย เป็นต้น
สำหรับในด้านความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะพนักงานขับรถ
ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานขับรถต่อเนื่องอีกกว่า 5
หมื่นคนและผู้ประกอบการ on-demand delivery หลายรายต่างต้องการพนักงานขับรถเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยขยายการให้บริการ
และพนักงานคลังสินค้าซึ่งผู้ประกอบการหลายรายวางแผนขยายศูนย์คัดแยกและศูนย์กระจายสินค้า
นอกจากนี้
บุคลากรด้านโลจิสติกส์ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจโลจิสติกส์สูงอีกด้วย
สุดท้าย
กฎระเบียบข้อบังคับเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุควรทำการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์
เช่น
ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
(GMS-CBTA) เนื่องจากสินค้าที่อยู่บน e-Marketplace
หลักในไทยกว่า 70% ของสินค้า
เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
อีกทั้งการขายสินค้าของผู้ประกอบการ e-commerce ไทยไปต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
จึงจำเป็นต้องอาศัยการขนส่งผ่านแดน (cross-border logistics) และการจัดตั้ง
e-commerce park ที่ให้สิทธิพิเศษในการไม่ต้องชำระภาษีอากรในการนำสินค้าออกจากเขตจนกว่าจะครบกำหนด
14 วัน
ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการที่มีคลังสินค้าในพื้นที่นั้น
สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคขอคืนสินค้าเนื่องจากสินค้าชำรุด เสียหายหรือไม่พึงพอใจ
ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มขันนี้
อีไอซีมองว่า 3
แนวทางหลักในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจ
ได้แก่ 1. การเป็นพันธมิตรกับ online platform 2. การสร้างจุดเด่นในการให้บริการขนส่งของตนเอง
และ 3. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด้วยกันเอง
1.การเป็นพันธมิตรกับ
online platform ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งพัสดุ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการ e-commerce ซึ่งต้องการการจัดส่งพัสดุจำนวนมาก
เช่น Kerry Express และ DHL ที่ร่วมมือกับทั้ง
Lazada, Shopee และ JD Central อีกทั้งผู้ประกอบการอาจพิจารณาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโลจิสติกส์บน
e-logistics marketplace เช่น Shippop และ
Shipjung ในการช่วยหาลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานรถขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจะต้องเตรียมพร้อมในการบริหารต้นทุนดำเนินการให้เหมาะสมกับค่าคอมมิชชัน
(commission) ที่ถูกหักจากเจ้าของแพลตฟอร์มและค่าใช้จ่ายทั่วไปอื่น
ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สิทธิประโยชน์จากเจ้าของแพลตฟอร์มที่ปรับลดลง
2. การสร้างความแตกต่างโดยเน้นให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มและยกระดับการบริการเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น SCG เห็นโอกาสการเติบโตของบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิจากฐานลูกค้าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ
SCG Packaging จึงต่อยอดธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิภายใต้ชื่อ
SCG Express และถือเป็นเจ้าแรกของไทยที่ให้บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ
(cool-TA-Q-BIN) ส่วน Lalamove และ
Deliveree สร้างจุดแข็งโดยการให้บริการขนส่งพัสดุออนดีมานต์
(On-Demand Delivery) ตลอด 24
ชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและสามารถตั้งเวลาเรียกใช้บริการขนส่งล่วงหน้า
ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการขนส่งได้
ขณะที่ไปรษณีย์ไทยจัดโปรโมชันสำหรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากและการขนส่งต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มซื้อ-ขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
และ SF Express ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในจีนเน้นการขนส่งสินมูลค่าสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์
การขนส่งสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วผ่านทางอากาศ
3. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด้วยกันเอง
ทั้งรูปแบบของการเป็นเครือข่ายธุรกิจและการร่วมทุนกับบริษัทขนส่งต่างชาติที่ต้องการเปิดตลาดในไทย
เช่น Best Express ใช้โมเดลการขยายธุรกิจแบบเฟรนไชส์ (franchise)
ซึ่งเป็นโมเดลที่นิยมและประสบความสำเร็จในจีน
โดยประกาศรับผู้ประกอบการขนส่งท้องถิ่นทำหน้าที่รับ-ส่งพัสดุในช่วง last-mile
ส่วนทาง Best Express จะรับผิดชอบในส่วนการบริหารศูนย์กระจายสินค้า
การขนส่งระหว่างศูนย์กระจายสินค้า และซอฟต์แวร์ระบบจัดการ ซึ่งจะทำให้ Best
Express ขยายเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วภายใต้ต้นทุนที่ต่ำพร้อมทั้งการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว
ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นก็จะประหยัดต้นทุนการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
หรือการสร้าง e-logistics marketplace อย่างนิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์
ร่วมทุนกับ Flash Express จัดตั้ง Flash Logistics เพื่อเป็นแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างผู้ประกอบการ
ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้รถของผู้ประกอบการ
และลดต้นทุนค่าขนส่งและลดการวิ่งรถเปล่า เป็นต้น
นอกจากธุรกิจขนส่งพัสดุแล้ว
ศูนย์กระจายพัสดุและจุดให้บริการรับพัสดุ
เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาดขนส่งพัสดุและเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย
ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุรายใหญ่ยังคงต้องเปิดเกมรุกตลาดต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายสินค้าให้รวดเร็ว
ซึ่งการลงทุนตั้งศูนย์กระจายพัสดุหรือเปิดจุดให้บริการเองนั้นอาจต้องใช้เงินลงทุนที่สูง
ดังนั้นผู้ประกอบการขนส่งบางรายจึงยังต้องเลือกใช้โมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ในการขยายพื้นที่จุดให้บริการ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการทำธุรกิจนี้
นอกจากเงื่อนไขการขนส่งและส่วนแบ่งรายได้แล้ว
อาจต้องพิจารณาถึงการเติบโตของอุปสงค์ในพื้นที่ ฐานลูกค้าที่ใช้บริการของแบรนด์ขนส่ง
และการทับซ้อนของพื้นที่ให้บริการทั้งกับแบรนด์ขนส่งเดียวกันและแบรนด์คู่แข่ง
เพื่อความมั่นคงของธุรกิจได้ในระยะยาว
โดยสรุป ธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในด้านราคาและการให้บริการ
อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการดำเนินธุรกิจในการลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่
การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งอีไอซีประเมินว่า 3 กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรนำไปปฏิบัติเพื่อเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
ได้แก่ การเป็นพันธมิตรกับ online platform การสร้างความแตกต่างในการบริการ
และการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการขนส่งพัสดุด้วยกันเอง
ไม่มีความคิดเห็น